หากทุกข์ขอให้ทน...เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แม้ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ทุกข์ใดที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์นั้นย่อมดับลงตามกาลเวลา...(ธรรมทาน:facebook)

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

พอมี พอใช้ พอใจ พอเีีพียง


อย่าคิดว่าสิ่งที่เรามีนั้น ยังมีไม่พอ
แต่ควรคิดว่าสิ่งที่เรามีนั้น
ดีกว่าไม่มีเพียงใด

มีความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง อยู่ทั่วไป คือเข้าใจว่าสันโดษ คือการอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว สันโดษ หมายถึง ความพอใจในสิ่งที่ตนมี ตนเป็น ไม่ใฝ่หามาเพิ่มด้วยความอยากความโลภ ไม่ริษยาผู้ที่มีมากกว่าตน และไม่คิดจะมีมาก-เป็นมากกว่าใครๆ

พอมี พอใช้ พอใจ พอเพียง คือเคล็ดลับแห่งการอาศัยอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข เพราะตราบที่มีความพอใจอยู่เมื่อใด ความร้อนใจก็ไม่มีเมื่อนั้น เพียงแต่น้อยคนนักที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีตนเป็น

คนเรามักคิดอยู่เสมอว่า วันนี้เรายังมีไม่พอ และความคิดเช่นนี้ที่ทำให้เราตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาที่พาตัวเองไปสู่ทางร้าย พาบ้านตนและบ้านเมืองไปสู่ความวุ่นวาย ความคิดเช่นนี้ที่ทำให้คนค้าขายหากำไรด้วยวิธีเอาเปรียบลูกค้า ความคิดเช่นนี้ทำให้ชาวชนบทต้องตกเป็นเหยื่อตามถ้อยคำปลุกปั่นจูงใจของนักการเมืองไทยในทุกยุคทุกสมัย

สิ่งที่มวลมนุษย์ต่างแสวงหา ก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทองและของที่ปราถนา เพราะเชื่อว่า นั่นเป็นความสุขในโลก แต่ความจริงมิใช่เช่นนั้น คนที่มีสมบัติสมบูรณ์ใช่้ว่าจะเป็นคนที่มีความสุขเสมอไป หากคนผู้นนั้นไม่รู้จักหนทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพราะการใช้ชีวิตอยู่กับการแสวงหาทุกเวลาย่อมเป็นความทุกข์ทุกเวลาเช่นกัน

ความไม่รู้จักพอ คือกิเลสที่ผลักดันให้ผู้ใฝ่หากล้าทำทุกอย่าง แม้ต้องละเมิดศีล ๕ เพียงให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนขาดและปราถนา มีผู้หลงผิดในโลกมากมายที่ทุ่มเทเงินทองเพื่อซื้ออำนาจ ด้วยหวังว่าเมื่อได้อำนาจก็จะได้เงินทองกลับมาอีกมหาศาล และบันดาลความสุขให้ตนได้ดังเทวดา ทั้งๆ ที่นั่นเป็นความคิดที่ผิด ที่สั้น และเป็นเรื่องของวัตถุทางโลกโดยแท้ ความปราถนาอำนาจที่ไม่ยั่งยืน และสมบัติที่ไม่ถาวรจนถึงกับทำลายทำร้ายผู้อื่น ย่อมไม่ต่างจากคนที่ลงทุนซื้อปืนไว้เพื่อปล้นบ้านเพื่อนฉะนั้น


ผู้มีการศึกษา มีปัญญาในทางโลก ย่อมใช้ความฉลาดในทางโลก สรรหาเหตุผลนับร้อยๆ พันๆ ข้อ มาสนับสนุนความอยากของตนว่า สิ่งที่ตนอยากได้ อยากมี อยากเป็นนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อตน และผู้อื่นเพียงใด ปัญญาในทางโลกจึงมีส่วนนำผู้คิดเช่นนั้นลงสู่ทางผิดได้ง่ายอย่างน่าเป็นห่วง ฉะนั้น ผู้มีการศึกษาสูงในทางโลกจึงควรแสงหาปัญญาในทางธรรมไว้ด้วย


ในทางพระพุทธศาสนา ผู้ใดมีทรัพย์พอประมาณและรู้จักใช้ทรัพย์นั้นในทางที่ถูกต้อง ด้วยการมีชีวิตอย่างเรียบง่าย จะเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญยกย่องอย่างมาก ผู้รู้จักประมาณในตนเอง รู้จักประมาณในทุกสิ่ง รู้จักความพอดี ย่อมมีชีวิตที่ปลอดโปร่งเบาใจ ห่างไกลจากความกังวล ผู้มักน้อยย่อมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งเล็กน้อย รู้คุณค่าของเงิน คุณค่าของเวลา คุณค่าของลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างไม่เหลวไหลไร้สาระ ย่อมถึงความสุขตลอดเวลา ทั้งชีวิตนี้และชีวิตหน้า

อยู่อย่างสันโดษก็คือ อยู่อย่างรู้จักเจียมตัวเอง พอมี พอใช้ พอใจในความเป็นอยู่ของตน มีน้อยก็อยู่สบายแบบใช้น้อย ไม่อยากมากมายไม่สิ้นสุด ไม่สนใจคำค่อนแคะของใครๆ ในโลกอันหรูหราว่าตนมีอะไรๆ ไม่เสมอหน้าคนอื่นๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่รู้สึกต่ำต้อยน้อยใจ หรือใฝ่แต่จะเปรียบเทียบฐานะของตนกับของใครๆ

"...บุคคลใดรู้อัตภาพของผู้อื่น และอัตภาพของตนในโลก ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหวในโลกไหนๆ เรากล่าวว่าบุคคลนั้น สงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริตอันทำให้จิตกลุ้มมัวดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบใจ หาความทะเยอทะยานมิได้ ห้ามชาติและชราได้แล้ว..." (จาก อานันทสูตร อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต)

หากผู้ใดยังตัดตัวจากสังคมคนแวดล้อมไม่ได้ ชีวิตในโลกของผู้นั้นย่อมอดไม่ได้กับการเปรียบเทียบว่า คนนั้นมี แต่เรายังไม่มี คนนี้ได้ แต่เรายังไม่ได้ หรือเพื่อนเป็นแล้ว แต่ตัวเองยังไม่เป็น ความต่ำต้อยน้อยใจจึงทำใ้ห้ผู้นั้นเป็นทุกข์ หากไม่ได้ ไม่มี หรือไม่เป็นเช่นคนอื่น

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ที่ใครจะบอกให้ใครผู้กำลังอยากได้โน่น-อยากได้นี่ ให้รู้จักพอเพียง และคงยิ่งยากมากขึ้นอีกด้วยซ้ำ ถ้าใครจะบังคับให้ตัวเองให้รู้จัก "พอ" เพียงแค่นี้ ตราบที่ยังอยู่ในโลกหรือยังใช้ชีวิตแบบโลก-โลกอยู่อย่างทุกวันนี้ เราคงพ่ายแพ้จนหมดท่า มากกว่าจะระงับยับยั้งตัณหาไม่ได้

แม้แต่ตัวคุณเอง ถ้าคุณทนไม่ได้ที่จะต้อง "พอ" เพียงแค่ที่เป็นอยู่ คุณไม่ต้องลำบากใจ เพราะปกติใครๆ ในโลกก็เป็นเหมือนคุณ เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมทุกข์ ร่วมร้อนใจและหวั่นไหวไปตามแรงความอยากในใจไม่ต่างไปจากคุณ

ลองใช้คาถานี้ต่อสู้กับกิเลสตัณหา ลองระงับความอยากโดยบอกตัวเองว่า "ค่อยเป็น ค่อยไป แล้วเราจะได้ดังปราถนา" แปลง่ายๆ ก็คือ คุณต้องทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แปลว่า คุณไม่จำเป็นต้องหยุดความเจริญก้าวหน้าไว้เพียงวันนี้ เพราะคุึณยังมีโอกาสสมปราถนาได้ในโอกาสหน้า เพียงแต่ว่าคุณไม่ต้องใจร้อน

เพราะความอยากที่มาพร้อมกับความใจร้อน ก็คือ ความโลภ โลกที่อยากได้อยากมี อยากเป็นเร็วๆ โลภจนยอมทำทุกอย่างที่ผิดทำนองคลองธรรม เช่น คดโกงเบียดเบียน แก่งแย่ง ไปจนถึงขโมย ซึ่งแม้จะได้ จะมี จะเป็นสมใจ แต่ก็เพียงชั่วคราว ไม่ถาวร แล้วสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือ ทุกข์ยาวนาน อันเกิดจากความโลภนั้นเอง

เหมือนคุณเดินขึ้นบันไดพญานาคสู่วัดบนยอดดอย คุณต้องเดินทีละก้าวๆ อย่างไ่ม่ใจร้อน แม้บันไดนี้จะยาวกว่าบันไดขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพหลายสิบเท่า แต่คุณไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่ามันทีทั้งหมดกี่ขั้น ไม่จำเป็นต้องรีบวิ่งขึ้นจนเหนื่อยแทบขาดใจ ขอเพียงคุณสนใจก้าวขึ้นบันไดที่อยู่ตรงหน้าไปทีละขั้นๆ เหนื่อยก็นั่งพักได้ตามใจ หายเหนื่อยก็ก้าวเดินต่อ คุณก็จะถึงยอดดอยได้ในที่สุด นี่คือความมหัศ่จรรย์ของความวิริยะ ซึ่งถ้าคุณทำเช่นนั้นกับบันไดได้ ก็ทำเเช่นนั้นกับเรื่องทั้งหลายได้เช่นกัน

เพียงอยู่กับวันนี้ด้วยความใจเย็น แล้วทำดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ไปตามปรกติ คุณก็จะไปถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่าได้ในที่สุด

นี่คือความจริง เพราะกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงมีจริง เพียงแต่กฏแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใจเ่ท่านั้นที่ไม่มีจริง

ขอให้คุณเชื่อ กฏแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลก ในเมือง ในสังคม ในครอบครัว และในชีวิตคุณ ซึ่งกฏนี้จะทำหน้าที่ของมันอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่หยุดยั้ง เชื่อเถิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้อยู่คงที่คงเดิม แม้ความไม่ได้ ความไม่มี ความไม่เป็น และความไม่พอใจของคุณ ก็จะเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา

ฉะนั้นวันนี้ เพียงพอใจในตัวเอง พอใจในความสุขที่ตัวเองมีอยู่ แม้จะเป็นความสุขที่น้อย เมื่อเทียบกับคนที่สุขกว่า แต่ถ้าเรารู้จักพอ ไม่มัวแต่อยากได้สุขเพิ่ม ไม่ฝันใฝ่ให้เลิศหรู เราก็จะอยู่กับชีวิตของเราได้อย่างมีความสุข


ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือสร้างใจให้ตัวเบา วิชชาจากพระพุทธเจ้า (วรยุทธ พิชัยศรทัต)