พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
กิเลสมีมากเพียงใด ทุกข์มีมากเพียงนั้น
ความทุกข์จะต้องมีอยู่ ตราบที่กิเลสทั้งสามกองคือ โลภ โกรธ หลง ยังมีอยู่ กิเลสมีมากเพียงใด ทุกข์มีมากเพียงนั้น เมื่อใดกิเลสสามกองหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงแล้วนั่นแหละ ความทุกข์จึงจะหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงได้ จึงควรพยายามทำกิเลสให้หมดสิ้นให้จงได้ มีมานะพากเพียรใช้สติใช้ปัญญาให้รอบคอบเต็มความสามารถให้ทุกเวลานาทีที่ทำได้ แล้วจะเป็นผู้ชนะได้มีความสุขอย่างยิ่ง
ความทุกข์ทั้งสิ้น เกิดจากกิเลสในใจเป็นสำคัญ
เราทุกคนต้องการเป็นสุข ต้องการพ้นทุกข์ แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อความเป็นสุข เพื่อความสิ้นทุกข์ แล้วผลจะเกิดได้อย่างไร ความคิดเร่าร้อนต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์กันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากกิเลสในใจเป็นเหตุสำคัญทั้งสิ้น กิเลสนั่นแหละเป็นเครื่องบัญชาให้ความคิดเป็นไปในทางก่อทุกข์ทุกประการ ถ้าไม่มีกิเลสพาให้เป็นไปแล้ว ความคิดจะไม่เป็นไปในทางก่อทุกข์เลย ความคิดจะเป็นไปเพื่อความสงบสุขของตนเอง ของส่วนรวม ตลอดจนถึงของชาติ ของโลก
ทำความเชื่อมั่นว่ากิเลสทำให้เกิดทุกข์จริง จักสามารถแก้ปัญหาทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งปวงได้ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า ต้องพยายามทำความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นเสียก่อน ว่ากิเลสทำให้เกิดทุกข์จริง คือ กิเลสนี้แหละทำให้คิดไปในทางเป็นทุกข์ต่าง ๆ เมื่อยังกำจัดกิเลสไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องฝืนใจหยุดความคิดอันเต็มไปด้วยกิเลสเร่าร้อนเสียก่อน การหยุดความคิดที่เป็นโทษ เป็นความร้อนนั้น ทำได้ง่ายกว่า ตัดรากถอนโคนกิเลส ฉะนั้นในขั้นแรกก่อนที่จะสามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้ ก็ให้ฝืนใจไม่คิดไปในทางเป็นทุกข์เป็นโทษให้ได้เป็นครั้งคราวก่อนก็ยังดี
หยุดความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลส
อย่าเข้าข้างตัวเองผิด ๆ ดูตัวเองให้เข้าใจ เมื่อโลภเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโลภแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อโกรธเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิดโกรธแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย เมื่อหลงให้รู้ว่ากำลังคิดหลงแล้ว และหยุดความคิดนั้นเสีย หัดหยุดความคิดที่เป็นกิเลสเสียก่อนตั้งแต่บัดนี้เถิด จะเป็นการเริ่มฐานต่อต้านกำราบปราบทุกข์ให้สิ้นไป ที่จะให้ผลแท้แน่นอนความคิดของคนทุกคนแยกออกได้เป็นสอง อย่างหนึ่งคือความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลสมีโลภ โกรธ หลง อีกอย่างหนึ่งคือ ความคิดที่พ้นจากอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ความคิดอย่างแรกเป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน ความคิดอย่างหลังไม่เป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน
นับถือผู้สั่งสอนความถูกต้องดีงามเป็นครู
จะถือผู้ใดสิ่งใดเป็นครูได้ ก็ต้องเมื่อผู้นั้นสอนความถูกต้องดีงามให้เท่านั้น ต้องไม่ถือผู้ที่สอนความไม่ถูกไม่งามเป็นครูโดยเด็ดขาด และที่ว่าต้องไม่ถือเป็นครูหมายความว่าต้องไม่ปฏิบัติตาม ที่ว่าให้ถือเป็นครูก็คือให้ปฏิบัติตาม ทุกคนมีหน้าที่เป็นศิษย์ หน้าที่ของศิษย์ก็คือปฏิบัติตามครูอย่างให้ความเคารพ กล่าวได้ว่าให้เคารพและปฏิบัติตามคนดีแบบอย่างที่ดี รำลึกถึงคนดีและแบบอย่างที่ดีไว้เสมอ อย่างมีกตัญญูกตเวทีคือ รู้พระคุณท่านและตอบแทนพระคุณท่าน การตอบแทนก็คือทำตนเองให้ได้เหมือนครู นั่นเป็นการถูกต้องสมควรที่สุด จะได้รับความสุขสวัสดีตลอดไป
ความดีหรือบุญกุศลเปรียบเหมือนแสงไฟ
ความดีหรือบุญกุศลเปรียบเหมือนแสงไฟ ผู้ที่ทำบุญทำกุศลอยู่สม่ำเสมอเพียงพอ แม้จะเหมือนไม่ได้รับผลของความดี และบางครั้งก็เหมือนทำดีไม่ได้ดี ทำดีได้ชั่วเสียด้วยซ้ำ เช่นนี้ก็เหมือนจุดไฟในท่ามกลางแสงสว่างยามกลางวัน ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากแสงสว่างนั้น แต่ถ้าตกต่ำมีความมืดมาบดบัง แสงสว่างนั้นย่อมปรากฏขจัดความมืดให้สิ้นไป สามารถแลเห็นอะไร ๆ ได้ เห็นอันตรายที่อาจมีอยู่ได้ จึงย่อมสามารถหลีกพ้นอันตรายเสียได้ ส่วนผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตน เช่นไม่มีเทียนจุดอยู่ เมื่อถึงยามกลางคืนมีความมืดมิด ย่อมไม่อาจขจัดความมืดได้ ไม่อาจเห็นอันตรายได้ ไม่อาจหลีกพ้นอันตรายได้
ผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว สามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยความดีที่ทำอยู่
ผู้ทำความดีเหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว ไปถึงที่มืดคือที่คับขัน ย่อมสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีพอสมควรกับความดีที่ทำอยู่ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ทำความดี ซึ่งเหมือนกับผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตัว ขณะยังอยู่ในที่สว่างอยู่ในความสว่าง ก็ไม่ได้รับความเดือนร้อน แต่เมื่อใดตกไปอยู่ในที่มืดคือที่คับขัน ย่อมไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างสวัสดี ภัยอันตรายมาถึงก็ไม่รู้ไม่เห็น ไม่อาจหลีกพ้น คนทำดีไว้เสมอกับคนไม่ทำดี แตกต่างกันเช่นนี้ประการหนึ่ง
การทำดีต้องไม่มีพอ ต้องทำให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะไม่มีใครอาจประมาณได้ว่าเมื่อใดจะตกไปในที่มืดมิดขนาดไหน ต้องการแสงสว่างจัดเพียงใด ถ้าไม่ตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมายนัก มีแสงสว่างมากไว้ก่อน ก็ไม่ขาดทุน ไม่เสียหาย แต่ถ้าตกเข้าไปในที่มืดมิดมากมาย แสงสว่างน้อย ก็จะไม่เพียงพอจะเห็นอะไร ๆ ได้ถนัดชัดเจน การมีแสงสว่างมากจะช่วยให้รอดพ้นจากการสะดุดหกล้มลงเหวลงคู หรือตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายจนถึงตายถึงเป็น
อานุภาพของความดีหรือบุญกุศล
อานุภาพของความดีหรือบุญกุศลนั้น เป็นอัศจรรย์จริง เชื่อไว้ดีกว่าไม่เชื่อ และเมื่อเชื่อแล้วก็ให้พากันแสวงหาอานุภาพของความดีหรือของบุญกุศลให้เห็นความอัศจรรย์ด้วยตนเองเถิด
นำกิเลสออกจากใจหมดสิ้นเชิง ใจก็บริสุทธ์สิ้นเชิง เป็นสภาพที่แท้จริงของใจ
ที่จริงนั้นใจบริสุทธิ์ผ่องใส กิเลสเข้าจับทำให้สกปรกไปตามกิเลส ปล่อยให้กิเลสจับมากเพียงไรใจก็สกปรกมากขึ้นเพียงนั้น
-นำกิเลสออกเสียบ้าง...ใจก็จะลดความสกปรกลงบ้าง
-นำกิเลสออกมาก...ใจก็ลดความสกปรกลงมาก
-นำกิเลสออกหมดสิ้นเชิง...ใจก็บริสุทธิ์สิ้นเชิง เป็นสภาพที่แท้จริง มีความผ่องใส
เมื่อใจกับความสกปรกหรือกิเลสเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว อันเดียวกัน ทุกคนจึงสามารถจะแยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสได้ คือสามารถจะนำกิเลสออกจากใจได้
อานุภาพของความดีหรือบุญกุศลนั้น เป็นอัศจรรย์จริง เชื่อไว้ดีกว่าไม่เชื่อ และเมื่อเชื่อแล้วก็ให้พากันแสวงหาอานุภาพของความดีหรือของบุญกุศลให้เห็นความอัศจรรย์ด้วยตนเองเถิด
ที่จริงนั้นใจบริสุทธิ์ผ่องใส กิเลสเข้าจับทำให้สกปรกไปตามกิเลส ปล่อยให้กิเลสจับมากเพียงไรใจก็สกปรกมากขึ้นเพียงนั้น
-นำกิเลสออกเสียบ้าง...ใจก็จะลดความสกปรกลงบ้าง
-นำกิเลสออกมาก...ใจก็ลดความสกปรกลงมาก
-นำกิเลสออกหมดสิ้นเชิง...ใจก็บริสุทธิ์สิ้นเชิง เป็นสภาพที่แท้จริง มีความผ่องใส
เมื่อใจกับความสกปรกหรือกิเลสเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว อันเดียวกัน ทุกคนจึงสามารถจะแยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสได้ คือสามารถจะนำกิเลสออกจากใจได้
การทำใจให้เป็นสุข ต้องทำด้วยตัวเอง
การทำใจให้เป็นสุขผ่องใสนั้น ไม่มีใครจะทำให้ใครได้ เจ้าตัวต้องทำของตัวเอง วิธีทำก็คือ เมื่อเกิดโลภ โกรธ หลง ขึ้นเมื่อใด ให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุด และใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้า เพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้าน ยิ่งดับช้าก็ยิ่งดับยาก และเสียหายมากโดยไม่จำเป็น
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าชี้ชัดได้ว่า สิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว อย่างถูกต้อง
ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่า อะไรคือดี อะไรคือชั่ว ก็ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเชื่อตามที่ทรงสอน ก็จะรู้ว่าอะไรคือดี อะไรคือชั่ว ที่จริงแล้วทุกคนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ไม่พยายามรับรู้ความจริงนั้นว่า เป็นความจริงสำหรับตนเองด้วย มักจะให้เป็นความจริงสำหรับผู้อื่นเท่านั้น ดังที่ปรากฎอยู่เสมอ ผู้ที่ว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย โดยตัวเองก็หาได้ตำหนิตัวเองเช่นที่ตำหนิผู้อื่นไม่ ถ้าจะให้ดีจริง ๆ ถูกต้องสมควรจริง ๆ แล้ว ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนให้เตือนตน แก้ไขตน
ก่อนจะเตือนผู้อื่นแก้ไขผู้อื่น